top of page

โรคจิตเภท

     ผู้ป่วยโรคจิตเภท หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้มีอารมณ์ไม่เหมาะสม โดยระดับความรู้สึกตัวและสติปัญญามักยังปกติอยู่ ได้แก่ มีความหลงผิด หูแว่ว ผู้ป่วยมีความคิดผิดปกติและอาการด้านลบ

persecutory-delusion-hallucination-psychiatry-major-depressive-disorder-sick-235cd61cc47a0
การรักษาโรคจิต

     ในช่วงที่มีอาการมาก การใช้ยาสามารถลดอาการหลงผิด หวาดระแวง ก้าวร้าว วุ่นวาย และประสาทหลอน หูแว่วของผู้ป่วยได้ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การรักษาด้วยไฟฟ้า การทำจิตบำบัด รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพทางจิตใจและสังคม จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับสู่สังคมตามปกติได้เร็วขึ้น
     เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว การได้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และการมาพบแพทย์ตามนัด จะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยและญาติมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยดูแลเรื่องนี้

อาการเตือนที่ควรมาพบแพทย์

1.  นอนหลับยาก นอนไม่หลับ ฝันร้าย              
2.  มีปัญหาทะเลาะกับบุคคลในครอบครัวและผู้อื่นบ่อยๆ    
3.  มีความคิดวิตกกังวล กระวนกระวาย หวาดกลัวโดยไม่มีสาเหตุ
4.  มีความคิดผิดปกติ ฟุ้งซ่าน
5.  ซึมเศร้า สับสน
6.  ไม่มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง
7.  ควบคุมตนเองไม่ได้

ผู้ป่วยควรปฏิบัติอย่างไร  เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

1. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
2. อย่าปรับขนาดยาเองหรือหยุดยาเอง แม้ว่าจะมีอาการสงบแล้วก็ตาม
3. หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน กาว อื่นๆ
ภายหลังจากการกินยารักษาโรคจิตแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นที่พบได้บ่อย ได้แก่  
   • ปากแห้ง แนะนำให้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำหรือจิบน้ำมะนาวบ่อยๆ เพื่อให้ปากชุ่มชื้น
   • ท้องผูก แนะนำให้ควรรับประทานอาหารที่มีกาก ผักและผลไม้/มีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายทุกวัน
   • ถ้าเกิดตาพร่า ง่วงนอน อาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายแต่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร 
   ถ้าใช้ไป 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะค่อยๆ ปรับตัวได้ แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก เช่น คอบิด ตาค้าง ตัวแข็ง ลิ้นแข็ง น้ำลายยืด มือสั่น ผุดลุกผุดนั่ง อยู่ไม่ติดที่ เมื่อรับประทานยาแก้แพ้ (ยาเม็ดสีขาวกลม มีอักษร T, B) อาการจะดีขึ้นแต่ถ้ายังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปรับยาด้วยตนเอง

4. ดูแลความสะอาดของตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน การแต่งกายให้เหมาะสม
5. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยไม่ควรอดนอน หลับอย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง
6. ร่วมกิจกรรมในครอบครัว เช่น การทำความสะอาดบ้าน ช่วยค้าขาย ปลูกต้นไม้
7. ถ้ามีปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจ ให้รับการปรึกษาจากผู้ดูแล/ญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัว เช่น พ่อแม่ สามี/ภรรยา ไม่ควรเก็บความไม่สบายใจไว้คนเดียว

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาโรคจิต

1. ยารักษาโรคจิตมีประโยชน์คือ สามารถรักษาอาการต่างๆ ของโรคจิตได้ เช่น อาการหวาดระแวง ก้าวร้าว วุ่นวาย ประสาทหลอน หูแว่ว พูดหรือหัวเราะคนเดียว ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดี รวมทั้งป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ได้
2. ยารักษาโรคจิตไม่ได้ออกฤทธิ์เร่งเหมือนยาแก้ปวด อาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนกว่าจะเห็นผล
3. ยารักษาโรคจิตไม่ทำให้เกิดอาการติดยา สามารถให้รับประทานในระยะเวลานานได้
4. ยารักษาโรคจิตมีทั้งชนิดเม็ดและชนิดฉีด ซึ่งชนิดฉีดจะออกฤทธิ์นาน สามารถควบคุมอาการได้เป็นเดือน การเลือกชนิดของยา แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ป่วย
5. ยารักษาโรคจิตอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง ซึ่งมักเรียกว่า “แพ้ยา” เช่น มีอาการน้ำลายยืด ลิ้นแข็ง มือสั่น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยยาแก้แพ้ และแพทย์มักจะให้ผู้ป่วยไปด้วยทุกครั้ง
6. เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์มักจะค่อยๆ ลดขนาดของยาลง ส่วนปัญหาที่ว่าจำเป็นต้องใช้ยาตลอดไปหรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาเป็นระยะๆ ไป
7. ขณะใช้ยาไม่ควรดื่มเบียร์ สุรา ยาดอง ชา กาแฟ และน้ำอัดลม

สิ่งกระตุ้นให้อาการทางโรคจิตกำเริบ / เลวลง ได้แก่

1. หยุดยา / กินยาไม่สม่ำเสมอ
2. ใช้สารเสพติด เช่น ดื่มสุรา สูบกัญชา ดมกาว
3. บรรยากาศของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ป่วย ได้แก่ ไม่เป็นมิตร จู้จี้ ตำหนิติเตียนหรือก้าวก่ายในเรื่องส่วนตัว
4. การอดนอน
5. ได้รับความเครียดทางด้านจิตใจและสังคม เช่น ถูกทอดทิ้ง ปัญหาครอบครัว ผิดหวังการเรียน ปัญหาการทำงาน

bottom of page