top of page

โรคซึมเศร้า

       เป็นความผิดปกติของสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าโรคซึมเศร้า เป็นผลมาจากความผิดปกติของจิตใจ สามารถแก้ไขให้หายได้ด้วยตนเอง ในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน

—Pngtree—melancholic girl_5919881.png
อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

1. มีอารมณ์เศร้า ซึ่งอารมณ์เศร้าจะมีอยู่เกือบตลอดทั้งวันและเป็นทุกวันบางวันอาจเป็นมากบางวันอาจเป็นน้อย
2. ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
3. เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดลงหรือบางรายอาจมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น กินมากจนน้ำหนักเพิ่ม (เช่น 2-3 กก. ต่อเดือน)
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากแทบทุกวัน ส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับกระสับกระส่าย หลับดึกแต่จะตื่นเช้า 1-2 ชั่วโมงก่อนเวลาปกติที่เคยตื่นและไม่สดชื่น
5. ทำอะไรช้า พูดช้า เดินเหิน เคลื่อนไหวช้าลง แต่มีบางรายก็มีหงุดหงิด กระสับกระส่าย ทำอะไรเหมือนรีบเร่ง
6. อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงทั้งวันและแทบทุกวัน
7. รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินควร (หลายรายที่มองตน มองโลก มองอนาคตในด้านลบไปหมด เช่น ตนไม่หล่อ ไม่สวย ไม่เก่ง ไม่ดี โลก สังคมก็แย่เสื่อมโทรม ทุกอย่างแก้ไขไม่ได้แล้วอนาคตต้องยิ่งทุกข์ยากลำบากมืดมน)
8. สมาธิหรือความคิดอ่านช้าลดลง
9. คิดอยากตายไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ หรือบางรายพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผนฆ่าตัวตาย ในบางรายที่อาการรุนแรงมากจะมีอาการประสาทหลอน เป็นหูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดตำหนิติเตียน หรือหลงผิดว่าทุกคนรอบข้างมองตนเองไม่ดี แกล้งทำให้ตนล้มเหลว

     ถ้ามีอาการดังข้างต้น อย่างน้อย 5 อาการ อยู่นานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอารมณ์เศร้า (1) หรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุข (2) ก็จะเรียกได้ว่า ป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” แล้ว และต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

สาเหตุของโรค

     ในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย ยังไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไรแน่ แต่พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง บริเวณส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการแสดงออกของอารมณ์ คือ สารสื่อประสาท ดังกล่าวจะเสียความสมดุลทำให้การทำงานผิดปกติไป ยาต้านเศร้า ส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทเหล่านี้ มีผลทำให้ระดับของสารสื่อประสาทในสมองเกิดสมดุลสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ดี

     1. พันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดโรคซึมเศร้าเพราะพบว่าในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้าคนอื่นๆ ในครอบครัวมีโอกาสป่วยได้มากกว่าคนทั่วไป 2.8 เท่า แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีประมาณ 31-42% ดังนั้น ถึงแม้มีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ลูกก็ไม่ได้เป็นกันทุกคนยังมีสาเหตุและปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ก่อความเครียดในชีวิต จะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ทั้งในการเริ่มต้นเกิดโรคและการกลับเป็นซ้ำหลังหายดีแล้ว เหตุการณ์ที่ก่อความเครียดเหล่านั้นได้แก่ มีปัญหาการเงิน ตกงาน ออกจากงาน คลอดบุตร หย่าร้าง ต้องอยู่คนเดียว การสูญเสียของรักหรือคนที่รัก ขัดแย้งหรือทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น เมื่อประสบเหตุการณ์เหล่านี้แล้วคนที่มีแนวโน้มจะป่วยอยู่แล้วก็อาจเกิดอาการซึมเศร้าได้ทันทีแต่ก็มีบางรายอาการซึมเศร้าจะเกิดช้าหลังจากนั้นสองสามเดือน
     2. ลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัวบางอย่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เช่น เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ สนใจ
แต่ในด้านไม่ดีหรือด้านลบของสิ่งต่างๆ มากกว่าด้านบวก เมื่อประสบปัญหาก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงหรือหนีปัญหา เก็บกดอารมณ์ไม่แสดงออก แม้ในสถานการณ์ที่ควร บุคคลที่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า
     3. สาเหตุอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วได้แก่การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและยาต่างๆ มีโรคทางกายหลายโรคและยาบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ โรคไทรอยด์ โรคเลือดจาง โรคเบาหวาน ยาคุมกำเนิดบางชนิด การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ ยาโรคหัวใจและยาลดความดันโลหิตบางประเภท เป็นต้น ถึงแม้ว่า ในขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจนว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็พอบอกได้ว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคของสารในสมองผิดปกติและพันธุกรรมโดยมีผลกระทบจากบุคลิกภาพและความเครียดในชีวิตจึงทำให้เกิดอาการป่วยขึ้น

อ้างอิงจาก โรคซึมเศร้ารักษาหายได้ เพียง...ครอบครัวใส่ใจดูแล

นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

bottom of page